เรื่องภาษีนั้นเป็นหัวข้อที่น่ากังวลสำหรับนักธุรกิจมือใหม่แทบทั้งสิ้น บางทีไม่ได้ตั้งใจจะเลี่ยงภาษีแต่กลับต้องโดนตามปรับย้อนหลังเพราะความไม่รู้ เพราะเรื่องของภาษีเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก และมีหลากหลายแบบเหลือเกิน จนบางครั้งเราก็เริ่มไม่แน่ใจว่าเราจ่ายไปครบทุกประเภทหรือยัง และภาษีป้ายก็เป็นอีกภาษีรูปแบบหนึ่งที่คนส่วนมากมักไม่ค่อยรู้จักกันเท่าไร เรามาเริ่มทำความรู้จักกับภาษีชนิดนี้เลยดีกว่าว่าภาษีนี้คืออะไร และเราต้องเสียหรือไม่
ภาษีป้าย คือ ภาษีที่เก็บจากการแสดงป้ายชื่อ ยี่ห้อ หรือโลโก้บนวัตถุใดๆ ด้วยตัวอักษร ภาพ ที่ใช้เพื่อหารายได้หรือการโฆษณา
ภาษีป้าย คือ ภาษีที่เก็บจากการแสดงป้ายชื่อ ยี่ห้อ หรือโลโก้บนวัตถุใดๆ ด้วยตัวอักษร ภาพ ไม่ว่าจะเป็นบนป้ายทั่วไป ป้ายบิลบอร์ดตามตึกตามทางด่วน ป้ายผ้าใบ หรือป้ายไฟ ที่ใช้เพื่อหารายได้หรือการโฆษณา ล้วนต้องเสียภาษีป้ายทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าเราเปิดร้านกาแฟที่ตึกแถวชื่อร้านว่า “Incquity Coffee” ที่มีป้ายร้านเป็นแผ่นไม้หน้าร้านหนึ่งอัน และเป็นในรูปแบบผ้าใบอันใหญ่อีกหนึ่งอันก็ต้องเสียภาษีทั้งหมด 2 ป้าย ด้วยอัตราภาษีที่ขึ้นอยู่กับรูปแบบและขนาดที่กำหนด
ตามกฏหมายแล้วป้ายที่ต้องเสียภาษีคือป้ายใดๆ ที่แสดงชื่อยี่ห้อ ที่ใช้ในการโฆษณาหรือหารายได้บนวัตถุต่างๆ แต่ว่ากฏหมายยังมีข้อยกเว้นหลายข้อ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถใช้วิธีเหล่านี้ในการติดป้ายแทนป้ายแบบปกติทั่วไปได้ โดยไม่ต้องเสียภาษีด้วยวิธีดังนี้
- ป้ายที่แสดงไว้ ณ โรงมหรสพและบริเวณของโรงมหรสพนั้นเพื่อโฆษณามหรสพ
- ป้ายที่แสดงไว้ที่สินค้าหรือที่สิ่งหุ้มห่อหรือบรรจุสินค้า
- ป้ายที่แสดงไว้ในบริเวณงานที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว
- ป้ายที่แสดงไว้ที่คนหรือสัตว์
- ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นหรือภายในอาคารซึ่งเป็นที่รโหฐาน ทั้งนี้ เพื่อหารายได้ และแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกิน 3 ตารางเมตรที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่รวมถึงป้ายตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์
- ป้ายของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
- ป้ายขององค์การที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ และหน่วยงานที่นำรายได้ส่งรัฐ (ป้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- ป้ายของโรงเรียนเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่แสดงไว้ ณ อาคารหรือบริเวณของโรงเรียนเอกชน หรือสถาบัน อุดมศึกษาเอกชนนั้น
- ป้ายของผู้ประกอบการเกษตรซึ่งค้าผลผลิตอันเกิดจากการเกษตรของตน
- ป้ายของวัดหรือผู้ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการกุศลสาธารณะโดยเฉพาะ
- ป้ายของสมาคมหรือมูลนิธิ
- ป้ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (ปัจจุบันมีฉบับที่ 2) กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ให้เจ้าของป้ายไม่ต้องเสียภาษีป้าย สำหรับ
(ก) ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถบดถนนหรือรถแทรกเตอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
(ข) ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ล้อเลื่อน ตามกฎหมายว่าด้วยล้อเลื่อน
(ค) ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ยานพาหนะนอกเหนือจาก (ก) และ (ข) โดยมีพื้นที่ไม่เกินห้าร้อยตารางเซนติเมตร
กรณีที่ป้ายร้านของเราอยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษี สิ่งที่เราต้องรู้ถัดมาคือวิธีการคำนวณภาษีป้ายแต่ละแบบว่ามีลักษณะและราคาอย่างไร เพราะแต่ละประเภทก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป การได้รับรู้วิธีการคำนวณภาษีก่อนคงเป็นประโยชน์ไม่น้อยในการช่วยออกแบบป้ายขึ้น เพื่อให้เสียภาษีป้ายได้น้อยที่สุดหรือเหมาะสมที่สุด
1. ป้ายแบบที่มีอักษรไทยล้วน
ในแบบแรกนั้นจะมีลักษณะเป็นป้ายที่มีแต่ตัวอักษรไทยเท่านั้น ไม่มีการใช้ภาพหรือภาษาอื่นเข้ามาผสม ด้วยข้อจำกัดนี้ทำให้ภาษีของป้ายมีราคาถูกที่สุดเมื่อเทียบกับในแบบอื่นๆ โดยจะคิดภาษีในอัตรา 60 บาทต่อ 1 ตารางเมตร (ในรูปแบบนี้ไม่นับพวกอักษรย่อหน้าชื่อเช่น ช. T.M. เพราะในส่วนนี้จะนำไปคิดราคาแยกต่างหากในอีกอัตราหนึ่ง)
2. ป้ายอักษรที่มีอักษรไทยที่ปนกับอักษรต่างประเทศ ภาพ หรือเครื่องหมายอื่นๆ
ป้ายประเภทนี้คือป้ายที่มีตัวอักษรภาษาไทย และมีภาษาอื่นๆ รวมถึงรูปภาพเข้าไปผสมได้ แต่มีข้อแม้ว่าอักษรภาษาไทยทุกตัวบนป้ายนั้นต้องอยู่บนสุด และห้ามอยู่ในตำแหน่งต่ำกว่าอักษรภาษาอื่นๆ ซึ่งป้ายประเภทนี้มักได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในการทำป้ายบิลบอร์ดต่างๆ ที่ใช้ตัวอักษรไทยอยู่ด้านบน และมีโลโก้ไว้อยู่ที่ด้านล่าง โดยป้ายดังกล่าวจะใช้อัตราภาษีที่ 400 บาท ต่อ 1 ตารางเมตร
3. ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยประกอบในป้าย หรือมีตัวอักษรไทยอยู่ต่ำกว่าภาษาอื่นๆ
ในรูปแบบที่ 3 นั้นถือเป็นป้ายที่ไม่ค่อยได้รับความนิยม และผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะหลีกเลี่ยงเพราะราคาสูงกว่าป้ายประเภทอื่นๆ โดยจะเสียภาษีป้ายในอัตราสูงถึง 800 บาทต่อ 1 ตารางเมตร ทำให้ผู้ที่ต้องการทำป้ายที่ภาษาไทยอยู่แล้วก็มักจะเลือกในแบบที่ 2 และนำภาษาไทยไว้สูงกว่าภาษาอื่นๆ เพื่อให้ได้ราคาที่ถูกกว่าถึง 50%
เพิ่มเติม
- ถ้าหากคำนวณภาษีตามอัตราที่ว่าแล้ว จำนวนภาษีป้ายที่ต้องชำระยังไม่ถึงป้ายละ 200 บาท ก็ต้องเสียภาษีในอัตราภาษีขั้นต่ำที่ป้ายละ 200 บาท
- ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขป้ายในบางส่วน ให้คำนวณภาษีเฉพาะในส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เช่น ถ้าในตอนแรกใช้ป้ายในรูปแบบที่ 2 ด้วยป้ายที่มีขนาด 10,000 ตารางเซนติเมตร เป็นจำนวนภาษี 400 บาท แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงป้ายจนอยู่ในคุณสมบัติตามข้อที่ 3 จำนวนภาษีป้ายจะเพิ่มสูงถึง 800 บาท ก็ให้จ่ายภาษีแค่ส่วนต่างนั่นก็คือ 800-400 = 400 บาทเท่านั้น
1. ตรวจสอบความปลอดภัยของการติดตั้งป้าย
หลังจากที่ได้ป้ายมาจากร้านรับทำป้ายเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะนำป้ายไปติดตั้งเราควรแจ้งขนาดของป้าย รวมถึงภาพถ่ายหรือภาพสเก็ตของป้าย พร้อมด้วยแผนผังที่ตั้งของบริเวณที่เราต้องการจะติดตั้งป้ายนั้น เพื่อนำมาขอคำอนุญาตติดตั้งกับทางสำนักงานเขต เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่เราอาศัยอยู่เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบก่อนว่าลักษณะป้ายของเรานั้น สร้างความเดือดร้อนที่ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนหรือไม่ เช่น บริเวณที่คร่อมถนน บริเวณเสาไฟฟ้า ถนน ต้นไม้ และอื่นๆ ที่อยู่บริเวณสาธารณะ ซึ่งโดยปกติแล้วหากใช้บริการจากร้านทำป้ายส่วนมากนั้น ทางร้านจะดำเนินการขอใบอนุญาตให้กับเราได้ด้วย
2. ยื่นเอกสารประกอบเพื่อยื่นชำระภาษี
หลังจากได้รับอนุญาตติดป้ายก็ให้เตรียมเอกสารหลักฐานประกอบการเสียภาษีป้ายต่อไปนี้ให้ครบถ้วน เพื่อเตรียมนำไปยื่นชำระภาษี
- บัตรประจำตัวประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- หนังสือรับรองห้างหุ้นส่วน
- ใบอนุญาตติดตั้งป้าย หรือใบเสร็จรับเงินจากร้านทำป้าย
- ถ้าในกรณีที่เคยยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีป้ายไว้แล้ว ควรนำใบเสร็จรับเงินค่าภาษีป้ายจากปีก่อนมาแสดงด้วย
เมื่อได้เอกสารทั้งหมดพร้อมตามนี้แล้ว เจ้าของป้ายนั้นจะต้องไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป. 1) พร้อมด้วยหลักฐานทั้งหมด (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงป้ายต้องทำการยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายเพื่อทำการประเมินภาษีป้ายใหม่ทุกครั้ง) และดำเนินการยื่นแบบแสดงรายการภาษี พนักงานจะดำเนินการได้ 2 กรณี คือ
- กรณีแรกคือเมื่อเราพร้อมชำระภาษีป้ายได้ทันที เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ทำการประเมินภาษีทั้งหมดให้กับเราแล้ว
- ในกรณีที่สองจะเกิดขึ้นเมื่อเราไม่พร้อมชำระภาษีเมื่อได้รับการประเมินภาษีป้ายทั้งหมดแล้ว เจ้าหน้าที่จะมีหนังสือแจ้งการประเมินและแจ้งหนี้ทั้งหมดที่เราต้องชำระในภายหลัง ซึ่งเราจะมีเวลาเพียง 15 วัน นับตั้งแต่ได้รับการประเมินในการชำระภาษีป้ายนี้
ซึ่งการชำระหนี้นั้นถ้าป้ายเราเป็นป้ายที่เพิ่งยื่นภาษีเป็นปีแรก และได้รับการประเมินจากทางเจ้าหน้าที่ว่ามีภาษีป้ายเกิน 3,000 บาทขึ้นไป ก็สามารถผ่อนชำระได้ 3 งวด งวดละ 3 เดือน ในอัตราเท่าๆ กัน
3. การชำระภาษีป้ายจะต้องชำระเป็นประจำทุกปี โดยชำระภายในเดือนมีนาคม
- หากผู้ประกอบการจงใจไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 50,000 บาท
- ถ้าผู้ประกอบการจงใจแจ้งข้อความเท็จ หรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษี จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 50,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
• • •
การติดตั้งป้ายหน้าร้านนั้นเป็นเรื่องปกติที่ร้านค้ามักจะมีไว้เพื่อโฆษณาและแสดงชื่อร้าน แต่ยังมีอีกหลายร้านที่ไม่รู้ว่าต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องภาษีในส่วนนี้ ซึ่งโดยปกติแล้วทางร้านทำป้ายมักจะบอกเราถึงรายละเอียดดังกล่าว แต่ในกรณีที่เราติดเองเราคงไม่รู้ข้อมูลเหล่านี้ ดังนั้นการจะติดตั้งป้ายไว้ที่ไหน ควรตรวจสอบเงื่อนไขให้ดีเสียก่อนว่าสามารถติดตั้งได้หรือไม่ และป้ายของเราเป็นรูปแบบใด เสียค่าใช้จ่ายเท่าไร เรื่องเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ควรรู้ไว้เช่นกัน
ขอขอบคุณบทความจาก Incquity
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น